ในปี 2022 ประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี โดยประชากรลดลงประมาณ 850,000 คนจากปีก่อนหน้า เหลือ 1.411 ล้านคน ครั้งสุดท้ายที่ประชากรจีนลดลง คือ ในปี 1961 ซึ่งครั้งนั้นเกิดภาวะทุพภิกขภัย ส่งผลให้มีประชากรล้มตายหลายสิบล้านคน
แต่การลดลงของประชากรในครั้งนี้เป็นผลมาจาก 3 เหตุผลหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
- นโยบาย one-child policy หรือ นโยบายลูกคนเดียวที่เริ่มประกาศใช้ในปี 1980s (นโยบายนี้ยกเลิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว)
- ทัศนคติเรื่องการแต่งงานที่เปลี่ยนแปลงไป
- ปัญหาเรื่องค่าครองชีพในเมืองใหญ่แพงเกินที่จะมีลูกได้
การลดลงของประชากรทำให้จีนเข้าสู่จุดหักเหทางเศรษฐกิจอีกครั้งซึ่งอาจทำให้จีนไม่สามารถมีแรงงานเพียงต่ออุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวได้
นอกจากนี้ การที่จีนมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด อาจนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักเหมือนญี่ปุ่นเผชิญในปี 1990
ประชากรอินเดียแซงหน้าประเทศจีน เป็นประเทศที่มีประชากรสูงสุดในโลก
จากการประมาณการของ World Population Review พบว่า อินเดียมีประชากรประมาณ 1,417 ล้านคนในปี 2022 ซึ่งมากกว่าประชากรจีนเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งการที่ประชากรอินเดียแซงหน้าจีนในครั้งนี้ ทำให้มีสิ่งที่เราควรต้องจับตาหลายประการ รวมถึงเรื่องตลาดแรงงานและอัตราการเกิด ที่กำลังกลายเป็นประเด็นหลักในอินเดียและจีน
โดยอินเดียที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย อาจก้าวขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักที่เติบโตเร็วที่สุดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ในขณะที่จีนกำลังเผชิญกับสังคมสูงวัย และอาจนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงหลังจากขยายตัวอย่างรวดเร็วมาหลายปี
5 ประเด็นทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตา เมื่อประชากรอินเดียแซงหน้าจีน
ประเด็นแรก คือ การที่ประเทศจีนกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุมากกว่าอินเดีย เราจะได้เห็นประชากรวัยแรงงานลดลงภายในอีก 10 ปีข้างหน้า และประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นประมาณ 40% แต่เมื่อมาเทียบกับอินเดียแล้ว พบว่า ประชากรสูงวัย ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีไม่ถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2100
ประเด็นถัดมา คือ เรื่องตลาดแรงงานของอินเดีย ประชากรกว่าครึ่งของอินเดีย เป็นประชากรที่มีอายุน้อยทำให้ในทุก ๆ ปี จะมีประชากรเข้าสู่ระบบแรงงาน
ซึ่งเรื่องนี้ก็จะกลายมาเป็นเรื่องด่วนของนายกรัฐมนตรีอินเดียให้ต้องวางแผนเร่งสร้างเศรษฐกิจ กระตุ้นการจ้างงาน เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจมิฉะนั้นอินเดียอาจจะเผชิญกับอัตราว่างงานสูงก็เป็นได้
ประเด็นที่ 3 คือ ผู้หญิงอินเดียไม่ได้ทำงาน โดยในอินเดีย แรงงานผู้หญิงคิดเป็นราว ๆ 1 ใน 5 ของกำลังแรงงานทั้งระบบเท่านั้น ซึ่งที่สัดส่วนนี้เป็นรองแค่เพียงอัฟกานิสถานเท่านั้น ในขณะที่ประเทศจีน ผู้หญิงมีสัดส่วนในแรงงานทั้งระบบมากถึง 44.8%
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ ประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียมีรายได้น้อย ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตอย่างรวดเร็วและฟื้นตัวได้ดีจากการแพร่ระบาดของโควิด
แต่ประชากรประมาณ 800 ล้านคน ยังตกอยู่ในภาวะยากจน และยังต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือด้านอาหารฟรีจากภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม การที่อินเดียมีชนชั้นกลางน้อยกว่าจีน ก็มีข้อดีต่อระบบเศรษฐกิจเช่นกัน คือ อินเดียจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานนั้นถูก และอาจทำให้หลาย ๆ บริษัทย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีน
ประเด็นสุดท้าย คือ ประชากรอินเดียส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท ถึงแม้แรงงานจำนวนมากจะอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในการทำงาน แต่ประชากรอินเดียส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในชนบทจนถึงปี 2035 ในขณะที่ชาวจีน จะอาศัยอยู่ในเมืองกันมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้การลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจนในอินเดียยากขึ้น
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566
ดาวน์โหลดไฟล์ใหญ่
Comments