Economics

นโยบายเศรษฐกิจที่นายกฯ Jacinda Ardern ทิ้งไว้ให้กับนิวซีแลนด์


หลังการประกาศลาออกก่อนหมดสมัยของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ คุณ Jacinda Ardern เมื่อสัปดาห์ก่อน ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พรรครัฐบาลของนิวซีแลนด์ก็ได้มีมติเลือกคุณ Cris Hipkins ขึ้นมาดำรงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งเขาได้กล่าวไว้ว่ารัฐบาลของเขาจะเร่งรีบในการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายเสียใหม่ และดูว่านโยบายใดในปัจจุบัน จำเป็นจะต้องถูกปรับลดลงได้แล้ว

ยุคสมัยของ คุณ Jacinda Ardern เป็นจุดเปลี่ยนของการวางนโยบายจากการโฟกัสที่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เป็นการโฟกัสถึงเรื่องต่างๆ ในสังคม โดยการให้ความสำคัญกับการลดความไม่เท่าเทียมและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

ในบทความนี้ Bnomics จึงอยากจะรวบรวมนโยบายด้านเศรษฐกิจเด่นๆ ที่เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลคุณ Jacinda Ardern 

 

การลดความยากจนและความไม่เท่าเทียม

สิ่งที่รัฐบาลของเธอให้ความสำคัญเป็นหลักมาโดยตลอด คือ การมุ่งเน้นลดความยากจนและความไม่เท่าเทียม ในช่วงที่ผ่านมาจึงได้มีนโยบายมากมายที่ออกมาเพื่อช่วยยกระดับชีวิตของครอบครัวที่มีรายได้น้อย ไม่ว่าจะเป็น

  • การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
  • ขยายวันลาแบบได้รับเงินสำหรับพ่อแม่หลังคลอดลูก
  • เพิ่มงบประมาณสำหรับบริการทางสังคม
  • นโยบายลดปัญหาเด็กยากจน ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดจำนวนเด็กยากจนลงไปครึ่งหนึ่ง และจะลดให้เหลือเพียงไม่ถึง 10% ในปี 2028
  • นโยบายที่ช่วยให้คนมีบ้านเป็นของตัวเองได้ โดยรัฐได้ผุดโปรเจคสร้างบ้านของรัฐขึ้นมารองรับคนรายได้น้อย มีนโยบายช่วยเหลือให้คนเหล่านี้สามารถเปลี่ยนจากผู้เช่าเป็นเจ้าของบ้านได้ นอกจากนี้ยังออกนโยบายจำกัดการซื้อที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ เพื่อแก้ปัญหาราคาที่อยู่อาศัยสูง และลดจำนวนคนไร้บ้าน 

สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

รัฐบาลของคุณ Ardern ให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยจะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า

  • ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงพลังงานได้อย่างไม่มีต้นทุนสูงมากนัก และช่วยให้คนนิวซีแลนด์มีความเป็นอยู่ที่ดี
  • แหล่งพลังงานจะต้องมีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะเมื่อเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก
  • ระบบพลังงาน จะต้องช่วยสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้ยังประกาศว่านิวซีแลนด์จะเป็นประเทศที่ผลิตคาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี 2050 ซึ่งการวางแผนเปลี่ยนผ่านที่ดี จะช่วยประหยัดต้นทุนด้านพลังงานให้กับภาคธุรกิจและประชาชนชาวนิวซีแลนด์ ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานมากเกินไป และสามารถสร้างอาชีพที่รายได้ดีในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจน พลังงานชีวภาพ และพลังงานไฟฟ้า 

 

นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ

ในสมัยของเธอ มีการสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค 

นอกจากนี้ ยังโฟกัสไปที่การเพิ่มการส่งออกและลดการพึ่งพาตลาดส่งออกเพียงตลาดเดียว โดยมีการกระจายตลาดส่งออกและเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดที่มีการเติบโตสูงอย่างเอเชียมากขึ้น รวมถึงการพยายามเพิ่มการส่งออกสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การศึกษา และการท่องเที่ยว

ในระหว่างการดำรงตำแหน่งของคุณ Ardern ได้มีการยกระดับข้อตกลงการค้าร่วมกันระหว่างอาเซียน-นิวซีแลนด์-ออสเตรเลีย เพื่อมุ่งหวังให้ประเทศเติบโตหลังโควิด ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และทำให้ซัพพลายเชนมีความยืดหยุ่น เติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงอย่างเดียว และยังมีการทำข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรป เพื่อหวังจะเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายอีกด้วย

นับตั้งแต่ที่คุณ Jacinda Ardern ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เธอได้สร้างผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ไว้มากมายทั้งต่อชาวนิวซีแลนด์และต่อสายตาชาวโลก จน Fortune ยกให้เธอเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกปี 2021 อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยความท้าทายทางเศรษฐกิจ และบริบทต่างๆ ที่เริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อสูง การก่ออาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เธอตระหนักว่าเธอไม่มีพลังมากพอที่จะแก้ปัญหาในฐานะนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป

จึงน่าจะเป็นความท้าทายของคุณ Cris Hipkins ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์คนที่ 41 ต่อจากเธอ ว่าเขาจะเลือกแนวทางในการดำเนินนโยบายของเขาอย่างไร จะสานต่อ หรือหยุดนโยบายไหน และจะมีนโยบายใหม่ๆ อะไรเพื่อมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่อจากนี้

 


References :

https://www.nytimes.com/2023/01/20/world/australia/jacinda-ardern-new-zealand-economy.html

Reducing child poverty | Child Poverty

https://www.theguardian.com/world/2019/sep/04/new-zealand-scraps-overly-ambitious-plan-to-tackle-housing-crisis

https://environment.govt.nz/publications/aotearoa-new-zealands-first-emissions-reduction-plan/energy-and-industry/#:~:text=The%20Government%27s%202050%20vision%20for,wellbeing%20of%20all%20New%20Zealanders.

https://www.mfat.govt.nz/en/trade/free-trade-agreements/free-trade-agreements-in-force/nz-china-free-trade-agreement/overview/

https://www.mfat.govt.nz/en/trade/free-trade-agreements/free-trade-agreements-concluded-but-not-in-force/new-zealand-european-union-free-trade-agreement/history-of-negotiations/

https://www.aseanbriefing.com/news/asean-australia-new-zealand-free-trade-area-aanzfta-upgraded/#:~:text=ASEAN%2C%20Australia%2C%20and%20New%20Zealand,be%20officially%20signed%20in%202023.

 

ชนาภา มานะเพ็ญศิริ
เรียนจบเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่อยากโตไปเป็นนักเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว เพราะเป็นผู้หญิงที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ ก็เลยสนใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศด้วย เราเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่มีความตั้งใจอยากเห็นทุกคน ไม่ว่าจะเพศหรืออาชีพใด สามารถมีอิสระทางความคิดโดยไม่ถูกครอบงำจากบริบททางสังคม จึงอยากส่งผ่านความเป็นตัวเองผ่านงานเขียนทางเศรษฐศาสตร์ไปยังคนทั่วไป ให้รู้ว่าโลกนี้ยังมีพื้นที่สำหรับคนธรรมดาอย่างเรา และพื้นที่สำหรับทุกคน

    5 ประเด็นทางเศรษฐกิจ ที่ต้องจับตาเมื่อประชากรอินเดียแซงหน้าจีน 

    Previous article

    จีนเปิดประเทศ อาจดันให้เงินเฟ้อพุ่งอีกครั้ง 

    Next article

    Comments

    Leave a reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *