EdutainmentTrending

“The Crown” มูลค่าทางเศรษฐกิจของราชวงศ์อังกฤษ

 

หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พระราชินีผู้เป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษมาอย่างยาวนานกว่า 7 ทศวรรษ ประชาชนที่ชื่นชอบเรื่องราวของราชวงศ์อังกฤษ ต่างให้ความสนใจรับชมพระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญที่ไม่เคยจัดขึ้นมาหลายทศวรรษแล้ว

แต่นอกจากพระราชพิธีพระบรมศพ อีกสิ่งหนึ่งที่คนสนใจรับชมอย่างมากคือ ซีรีส์ Netflix เรื่อง The Crown ที่ถ่ายทอดเรื่องราวตลอดพระชนม์ชีพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1940 ก่อนที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของพระองค์สวรรคต นำไปสู่การปิดฉากชีวิตเจ้าหญิงเอลิซาเบธ และก้าวเข้าสู่การขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่นามว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ซีรีส์ The Crown ในปัจจุบันออกฉายมาจนถึงซีซั่นที่ 4 แล้ว โดยเป็นซีรีส์ชุดที่ได้รับความนิยม และกวาดรางวัลมาอย่างมากมาย หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้คนจำนวนมากจึงเปิดดูซีรีส์เรื่องนี้อีกครั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึง “ควีน” ของพวกเขา จนทำให้ยอดผู้เข้าชมในช่วงวันที่ 9 – 11 กันยายน ในสหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นถึง 800% รวมไปถึงคนทั่วโลก จนทำให้ The Crown season 1 ขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับหนังยอดนิยมของ Netflix อีกครั้ง

ในบทความนี้ Bnomics จะไม่ขอเล่าพระราชประวัติของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพราะอยากให้ทุกคนได้ลองไปดูในซีรีส์ The Crown (หรือถ้าไม่มีเวลาดู สามารถอ่านบทความที่ Bnomics : “Queen Elizabeth II” ราชินีอังกฤษผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า 9 ทศวรรษ ได้ลงไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน) 

 

“British Monarchy” ราชวงศ์ที่กลายเป็น “แบรนด์” สำคัญของสหราชอาณาจักร

พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้เคยเรียกราชวงศ์ว่าเป็น “The Firm” หรือบริษัท ที่บริหารงานโดยพระมหากษัตริย์ ซึ่งพอมองในมุมนี้ก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่านำไปคิดต่อมาก เพราะถ้าลองคิดดีๆ แล้ว ในปัจจุบันราชวงศ์อังกฤษเป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักร และเป็น “แบรนด์” ที่มีมูลค่าในเชิงธุรกิจจริงๆ

Brand Finance บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก ได้เคยประเมินมูลค่าของแบรนด์ราชวงศ์อังกฤษไว้ในปี 2017 และคาดว่ามีมูลค่ากว่า 6.75 หมื่นล้านปอนด์สเตอร์ลิง โดยแบ่งเป็น

1) ทรัพย์สินที่จับต้องได้ คิดเป็นมูลค่าราวๆ 2.55 หมื่นล้านปอนด์สเตอร์ลิง ประกอบไปด้วย

  • สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงเป็นเจ้าของ 
  • สำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์ (The Duchies of Lancaster and Cornwall)
  • งานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์ (Royal Collection) 
  • เครื่องราชกกุธภัณฑ์ (Crown Jewels)

2) ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เป็นมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ที่ราชวงศ์อังกฤษสร้างให้แก่เศรษฐกิจสหราชอาณาจักร คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.2 หมื่นล้านปอนด์สเตอร์ลิง   

 

พลังแห่งราชวงศ์อังกฤษ…Soft Power กระตุ้นเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์

ในปี 2017 ราชวงศ์อังกฤษ สร้างเม็ดเงินให้แก่เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรกว่า 1.766 พันล้านปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งมาจากรายรับส่วนเกินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว และการค้า, มูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ได้รับรองตราแผ่นดิน ตลอดจนสินค้าต่างๆ ที่สมาชิกราชวงศ์ให้การยอมรับ, อุตสาหกรรมบันเทิงและศิลปะ 

  • การท่องเที่ยวและการค้า

ประมาณการว่ารายได้การท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากราชวงศ์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 550 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง โดยเฉพาะแลนด์มาร์คสำคัญอย่างพระราชวังบักกิงแฮม และปราสาทวินด์เซอร์ ที่มีผู้เข้าชมกว่า 2.7 ล้านคน ในปี 2016 

เครดิตภาพ : Wikimedia Commons

[เกร็ดเล็กน้อย : พระราชวังบักกิงแฮม เปิดให้เข้าชมครั้งแรกในปี 1993 เพื่อนำเงินมาเป็นค่าซ่อมแซมปราสาทวินด์เซอร์ที่เกิดเพลิงไหม้ ในปี 1992]

นอกจากนี้ การที่สมาชิกราชวงศ์เสด็จเยือนประเทศต่างๆ นอกจากจะช่วยเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังก่อให้เกิดการโปรโมทสินค้า และบริการต่างๆ ของสหราชอาณาจักร เพราะใครๆ ก็อยากจะมีไลฟ์สไตล์ที่มีความหรูหราประหนึ่งราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งคาดว่าช่วยก่อให้เกิดรายได้ต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรกว่า 150 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง

 

  • การรับรองสินค้าด้วยตราแผ่นดิน 

สินค้าต่างๆ ที่มีการรับรองด้วยตราแผ่นดิน ช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่แบรนด์ จากการประเมินพบว่าการรับรองด้วยตราแผ่นดิน ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มกว่า 193.3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง และยังช่วยให้สินค้านั้นๆ สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีน ตะวันออกกลาง และสหรัฐฯ 

ในปัจจุบันมีแบรนด์กว่า 800 แบรนด์ ที่ได้รับการรับรองตราแผ่นดินโดยสมาชิกราชวงศ์ หนึ่งในนั้นคือ ซอสยี่ห้อ Heinz ที่คนไทยน่าจะรู้จักกันดี

เครดิตภาพ : chrisdorney / Shutterstock

นอกจากการับรองอย่างเป็นทางการด้วยตราแผ่นดินแล้ว บางครั้งสิ่งที่สมาชิกราชวงศ์เลือกใช้เวลาออกสื่ออยู่บ่อยๆ ก็กลายเป็นเหมือนการรับรองสินค้านั้นๆ ทางอ้อมเช่นกัน อย่างดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ ก็เคยสร้างปรากฏการณ์ Kate effect เมื่อเสื้อผ้าที่ทรงเลือกใส่ออกงาน มักจะถูกประชาชนจับตามองและซื้อตามจนขายหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่นาที ซึ่งคาดว่าช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่แบรนด์ต่างๆ โดยเฉลี่ยมากกว่า 200 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงต่อปีเลยทีเดียว 

Kate Middleton, Prince William, Princess Charlotte

เครดิตภาพ : Getty Image via Elle

[เกร็ดเล็กน้อย : เมื่อปี 2015 หลังการปรากฏพระองค์ครั้งแรกเจ้าหญิงเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ที่ลืมตาดูโลกได้ไม่กี่ชั่วโมง ภายใต้ผ้าคลุมเด็กอ่อน แบรนด์ G.H. Hurt & Son ทำให้แบรนด์มียอดขายถล่มทลายและมีคนเข้ามาเลือกชมสินค้าในเว็บไซต์นับแสนคนจากทั่วโลก]

 

  • สื่อบันเทิงและศิลปะ 

นอกจากนี้ ราชวงศ์ยังเข้าไปมีส่วนในอุตสาหกรรมสื่อและศิลปะ ซึ่งสำหรับปี 2017 คิดเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง นอกจากซีรีส์โด่งดังเรื่อง The Crown แล้วก็ยังมีหนังและละครเวทีเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ที่หยิบยกเรื่องราวในราชวงศ์ไปฉาย ทำให้คนสนใจในเรื่องราวของราชวงศ์ และนำไปสู่การโปรโมทความเป็นแบรนด์ราชวงศ์อังกฤษไปทั่วโลก ประมาณกันว่ามูลค่าสื่อโฆษณาต่างๆ สร้างรายได้มากกว่า 125 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง  

หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทั่วโลกต่างจับจ้องและให้ความสนใจสหราชอาณาจักรตลอดจนกษัตริย์พระองค์ใหม่เป็นอย่างมาก จึงถือเป็นเรื่องที่น่าท้าทายอย่างยิ่งสำหรับพระเจ้าชาร์ลที่ 3 เป็น ว่าจะสามารถรักษาความนิยมต่อราชวงศ์ รักษามูลค่าความเป็นแบรนด์ราชวงศ์อังกฤษ ได้อย่างมั่นคงและสง่างาม เฉกเช่นเดียวกับที่พระราชมารดาของพระองค์ทำได้หรือไม่ และจะสามารถต่อยอดอำนาจเชิงวัฒนธรรมที่มี ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างไร

[เกร็ดเล็กน้อย : ในปี 2020 – 2021 เงินรายปีที่ราชวงศ์ได้รับอยู่ที่ 86.3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งมาจากภาษีของประชาชน ปัจจุบันพระเจ้าชาร์ลที่ 3 จึงได้มีแนวคิดลดจำนวนสมาชิกราชวงศ์ให้เหลือแค่คนที่สำคัญและปฏิบัติพระราชกรณียกิจจริงๆ เพื่อประหยัดงบประมาณเงินรายปี]  

 


References:

https://brandfinance.com/wp-content/uploads/1/bf_monarchy_report_2017.pdf

https://www.bbc.com/thai/thailand-42035858

https://theconversation.com/how-queen-elizabeth-ii-made-the-british-monarchy-into-a-global-brand-190394

https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-29/how-much-does-the-royal-family-cost-a-breakdown-of-the-key-figures

https://www.businessinsider.com/875-brands-reapply-put-royal-coat-of-arms-on-products-2022-9

https://www.harpersbazaar.com/celebrity/latest/news/a15444/princess-charlotte-baby-clothing-sales/

https://www.insider.com/what-prince-charles-slimmed-down-monarchy-could-look-like-2021-5


เครดิตภาพ : Netflix

 

ชนาภา มานะเพ็ญศิริ
เรียนจบเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่อยากโตไปเป็นนักเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว เพราะเป็นผู้หญิงที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ ก็เลยสนใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศด้วย เราเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่มีความตั้งใจอยากเห็นทุกคน ไม่ว่าจะเพศหรืออาชีพใด สามารถมีอิสระทางความคิดโดยไม่ถูกครอบงำจากบริบททางสังคม จึงอยากส่งผ่านความเป็นตัวเองผ่านงานเขียนทางเศรษฐศาสตร์ไปยังคนทั่วไป ให้รู้ว่าโลกนี้ยังมีพื้นที่สำหรับคนธรรมดาอย่างเรา และพื้นที่สำหรับทุกคน

    ทุบเศรษฐกิจ พิชิตเงินเฟ้อ !!! ถึงจุดนี้ จากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหมด

    Previous article

    ย้อนรอยประวัติศาสตร์ผู้ปกครองเวลส์ กับตอบคำถามทำไม “ว่าที่กษัตริย์อังกฤษถึงต้องใช้ตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์”

    Next article

    Comments

    Leave a reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *