นโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ที่ไม่ได้ทำผ่านเครื่องมือปกติ
ในการดำเนินนโยบายการเงินโดยธนาคารกลางนั้น หนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่สุดก็คือ “ดอกเบี้ยนโยบาย” เพราะมันเป็นตัวกำหนดต้นทุนทางเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ การกู้ยืม การฝากเงิน การลงทุนต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี บางครั้งการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้ธนาคารกลางต้องหาเครื่องมือพิเศษใหม่ๆ ขึ้นมา
สิ่งหนึ่งในนโยบายที่ถูกสร้างขึ้นมา เรียกว่า “Yield Curve Control (YCC)”
Yield Curve Control คือ การที่ธนาคารกลางพยายามควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดให้อยู่ในระดับที่พวกเขาตั้งไว้ โดยตั้งกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไว้ และเข้าไปซื้อขายพันธบัตรในตลาดโดยตรงเพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในกรอบนั้นให้ได้ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะเป็นการเข้าไปซื้อพันธบัตรที่มีอายุไถ่ถอนยาวๆ เพื่อควบคุมให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวลดลง
(ความสัมพันธ์ระหว่างราคากับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะแปรผกผันกัน อ่านเพิ่มเติม:https://www.bnomics.co/bnomics-economics-101-bond-yield/)
ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นๆ ได้รับอิทธิพลจาก “ดอกเบี้ยนโยบาย” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้เป็นปกติอยู่แล้ว
แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวกว่าก็มักจะสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น เนื่องจากความเสี่ยงในการถือสินทรัพย์ที่คล้ายกันต่างกันเพียงแค่อายุไถ่ถอน ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่มีอายุไถ่ถอนมากกว่าก็ควรจะมีผลตอบแทนมากกว่า
ทว่าในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะถดถอย ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยนโยบายจนติดศูนย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว แต่ก็ยังต้องการจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นอีก จึงคิดจะเข้าไปจัดการให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวกว่าลดลง
ด้วยแนวคิดที่ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเป็นตัวกำหนดต้นทุนการกู้ยืมของคนอื่นในระบบเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวให้ลดลง ก็จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวของเอกชนลดลงด้วย
ประเทศที่ใช้นโยบาย Yield Curve Control ที่เป็นที่รู้จักก็คือประเทศญี่ปุ่น โดยทางธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศตรึงผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีไว้ใกล้กับ 0% ในปี 2016 และหลังจากนั้นก็มีการปรับกรอบการตรึงอัตราผลตอบแทนพันบัตรนี้ต่อมาในอนาคต ซึ่งล่าสุดกรอบนี้ก็ขยับจาก -0.25% ถึง 0.25% มาอยู่ที่ -0.5% ถึง 0.5%
ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของญี่ปุ่นสามารถปรับตัวขึ้นมาได้ และลดแรงกดดันทางด้านค่าเงินที่ถูกโจมตีจากนักลงทุนลงไปได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความสามารถการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลดลง
Comments