All about History

ชาวอียิปต์โบราณ ชนชาติแรกที่มีการเก็บภาษี! 

 

“มีอยู่ 2 สิ่งบนโลกที่เรามิอาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือความตายและภาษี” วิวาทะอมตะจากเบนจามิน แฟรงคลินนี้ ฟังดูแล้วไม่เกินจริงมากเท่าใดนัก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนใคร ๆ ก็ต้องจ่ายภาษีกันทั้งนั้น เพื่อให้รัฐบาลเก็บนำไปใช้จ่ายเพื่อบริหารประเทศ สร้างสวัสดิการ และความมั่นคงปลอดภัยในด้านต่าง ๆ ให้ประชาชน 

หากแต่มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ แนวคิดภาษีไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ แต่เกิดขึ้นและถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของรัฐมาอย่างนมนานแล้ว และอารยธรรมผู้ริเริ่มสร้างระบบภาษีขึ้นมาที่แรก ก็ไม่ใช่อารยธรรมไร้ชื่อ แต่เป็นหนึ่งในอารยธรรมที่รุ่งโรจน์ที่สุดอารยธรรมหนึ่งแห่งยุคสมัย นั่นคือ “อารยธรรมอียิปต์โบราณ” และเรื่องนี้เองเป็นเรื่องที่ Bnomics จะหยิบมาเล่าให้ทุกคนฟังในบทความนี้

 

🌟 ภาษีครั้งแรกของโลก

โลกสมัยใหม่มีวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีอย่างไร โลกอดีตในยุคอียิปต์โบราณก็มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน หลักฐานการเก็บภาษีครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงยุคแรกของราชวงศ์อียิปต์ ได้ปรากฎคำว่า “The Following of Horus” หรือ กลุ่มผู้ติดตามของเทพโฮรุส
(เทพแห่งแสงสว่างของชาวอียิปต์)  ซึ่งใช้เรียกการเสด็จประพาสของฟาโรห์และผู้ติดตามคนอื่น โดยกลุ่มนี้มีหน้าที่ในการไปเก็บภาษีจากชาวบ้านเพื่อนำมาให้ฟาโรห์ในฐานะผู้ปกครองรัฐ

นอกจากนี้ ฟาโรห์ได้แต่งตั้ง “Vizier” หรือ ผู้ดูแลภาษี ซึ่งได้รับอำนาจจากฟาโรห์ในการดูแลทุกขั้นตอนของการจัดเก็บภาษีทั้งจัดเก็บและบันทึกข้อมูลทุกระเบียดนิ้วเพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนได้จ่ายภาษีอย่างเรียบร้อย

เงินภาษีเหล่านี้จะถูกนำไปใช้จ่ายสำหรับการดูแลบ้านเมือง ป้องกันข้าศึกที่จะมาคุกคามเพื่อให้ชาวบ้านสามารถอยู่อาศัยและทำมาหากินได้อย่างสงบสุข หรือแม้แต่การสร้างพีระมิด อารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาวอียิปต์ก็มาจากเงินภาษีของประชาชนชาวอียิปต์เช่นเดียวกัน แต่เงินตราเพิ่งมามีหลังอารยธรรมอียิปต์โบราณหลายพันปี แล้วชาวอียิปต์ใช้อะไรในการจ่ายภาษีถ้าไม่ใช้เงิน?

คำตอบคือ “ผลผลิตการเกษตร” ในยุคที่ยังไม่มีเงินนั้น ชาวอียิปต์โบราณใช้ข้าวสาลี พืชผลการเกษตรต่าง ๆ ที่เก็บเกี่ยวได้ในแต่ละฤดูกาลจ่ายเป็นภาษี

นอกจากนี้ “วัวควาย” หรือ “แรงงานคน” ก็สามารถนำมาจ่ายภาษีได้เช่นเดียวกัน โดยภาษีเหล่านี้ก็จะถูกนำเข้าคลังของฟาโรห์เพื่อนำไปจัดสรรและใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ เช่น แรงงานคนในการเข้าร่วมกองกำลังทหารเพื่อป้องกันศัตรูจากภายนอก  หรือการนำพืชผลมาแจกจ่ายให้ประชาชนชาวอียิปต์ในช่วงที่เกิดภัยแล้งหรือมีความอดอยาก แล้วการเก็บภาษีมันดีต่อประชาชนชาวอียิปต์จริงหรือ?

ในบันทึกของฮีโรโดตุส นักปรัชญาชาวกรีกสมัย 500 ปีก่อนคริสตกาล ได้กล่าวว่า “ชาวอียิปต์โบราณมีมาตรฐานการครองชีพที่ดี มีสุขภาพร่างกายที่ดีมากกว่าชาวอารยธรรมอื่น ๆ ที่เขาเคยเห็นมา” ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า การเก็บภาษีมีประโยชน์ต่อชาวอียิปต์จริงๆ ก็เป็นได้

 

🌟 ระบบการเก็บภาษีของชาวอียิปต์โบราณ

ในช่วงแรกของราชวงศ์อียิปต์ (ปี 2649-2150 ก่อนคริสตกาล) การเก็บภาษีถูกจัดเก็บในระดับหมู่บ้านหรือเมืองโดยผู้รับผิดชอบคือ หัวหน้าหมู่บ้าน ที่คอยรวมผลผลิตของชาวบ้านและนำส่งให้เจ้าหน้าที่เก็บภาษี

ต่อมาในช่วงยุคกลางของอาณาจักรอียิปต์โบราณ (ปี 2030-1640 ก่อนคริสตกาล) เริ่มมีการจัดเก็บ “ภาษีส่วนบุคคล” เข้าแทนที่เป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในเรื่องการสำรวจสำมะโนประชากรของชาวอียิปต์ ทำให้สามารถตรวจสอบได้อย่างละเอียดว่าพื้นที่บริเวณนั้นมีใครอาศัยอยู่บ้าง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เท่าไหร่ ทำให้ชาวอียิปต์ทุกคนจะต้องจ่ายภาษีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

จากที่กล่าวไปตอนแรกว่าชาวอียิปต์จ่ายภาษีด้วยผลผลิตทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ หากปีไหนเก็บเกี่ยวพืชผลได้เยอะ ชาวบ้านอาจต้องจ่ายภาษีสูงถึง 60% ต่อปี และการจะหลบเลี่ยงภาษีแทบเป็นไปไม่ได้เพราะพืชผลที่เก็บเกี่ยวมามีขนาดใหญ่และจำนวนเยอะเกินกว่าที่จะเอาไปหลบซ่อน โดยจะมีเสมียนคอยทำหน้าที่เข้ามาตรวจสอบและจดบันทึกเพื่อให้แน่ใจว่าชาวบ้านจ่ายภาษีได้อย่างครบถ้วนตามแต่ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้

แล้วหากมีคนไม่จ่ายภาษี จะมีการลงโทษแบบในปัจจุบันไหม? 

คำตอบคือ ในยุคอียิปต์โบราณมีการลงโทษคนไม่จ่ายภาษีและลงโทษหนักกว่าในยุคปัจจุบันเสียอีก โดยบทลงโทษจะรุนแรงมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย เช่น ในช่วงแรกที่การจัดเก็บภาษียังเป็นแบบหมู่บ้าน หากเมืองไหนขาดจ่ายการส่งภาษี หัวหน้าหมู่บ้านจะต้องถูกลงโทษอย่างร้ายแรงที่สุด โดยมีหลักฐานจากภาพวาดบนหลุมศพของหัวหน้าหมู่บ้านที่กำลังถูกเฆี่ยนตีอย่างหนักเพราะไม่จ่ายภาษี 

เห็นได้ว่า นอกจากภาษีจะเป็นเรื่องสำคัญแล้ว ตำแหน่ง “เสมียนผู้เก็บภาษี” ก็สำคัญไม่แพ้กัน อาจกล่าวได้ว่าเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจอย่างมากในยุคนั้นเพราะสามารถลงโทษคนได้อย่างร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

การเก็บภาษีในอารยธรรมอียิปต์โบราณเป็นหนึ่งตัวอย่างของการใช้เครื่องมือภาษี เพื่อประโยชน์สูงสุดตามแนวคิดของรัฐยุคนั้น แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไป แนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเก็บภาษีก็ถูกถกเถียงมาตลอด และก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและบริบทของแต่ละประเทศ 

โดยในยุคปัจจุบัน กรอบความคิดสำคัญที่นำมาเลือกว่า รัฐใดควรเก็บภาษีแบบไหน และมากเท่าไร อาจจะสรุปออกได้มาเป็นคำ 3 คำ คือ การสร้างแรงจูงใจ การรวมศูนย์อำนาจ และการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

แต่ดังคำกล่าวของแฟรงคลินที่เรายกไปตอนต้น แม้แต่ละรัฐจะมีรูปแบบที่เหมาะสมของการเก็บภาษีต่างกันไซร้ แต่ทุกรัฐสมัยใหม่ล้วนเก็บภาษีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นสิ่งที่ไม่อาจหนีได้ ไม่ต่างจากความตายที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ…

 


References : 

https://www.archaeology.org/issues/422-2105/features/9594-egypt-tax-system 

https://classroom.synonym.com/taxes-were-collected-ancient-egypt-23655.html 

https://www.worldhistory.org/article/1012/ancient-egyptian-taxes–the-cattle-count/ 

https://www.ancient-origins.net/history/fast-money-egyptian-economy-monetary-system-and-horrendous-taxes-007200

 


เครดิตภาพปก : daily.jstor.org/

 

5 สถานที่งดงามใน “ยูเครน” เสน่ห์แห่งอารยธรรมชาวสลาฟ

Previous article

Misery Index ดัชนีวัดปัญหาทางเศรษฐกิจ จากความรู้สึกของมนุษย์

Next article

Comments

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *