ใน สปป. ลาว บริการทางการเงินดิจิทัลยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา แต่ความร่วมมือที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้กำลังจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำเสนอฟินเทครูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ โดยความคิดริเริ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่นำโดยบรรดาผู้ที่มีตำแหน่งในธนาคารและสถาบันการเงิน โดยพวกเขาเตรียมพร้อมสำหรับการนำบริการทางการเงินดิจิทัลมาใช้
เมื่อเดือนกันยายน 2565 ธนาคารส่งเสริมกสิกรรม (APB) ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาที่มุ่งเน้นให้การสนับสนุนทางการเงินกับภาคป่าไม้และเกษตรกรรม ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท Hi Sun Fintech Global (HSG) เพื่อปรับปรุงระบบที่สำคัญของธนาคารให้ทันสมัย
ทั้งนี้ HSG ระบุในแถลงการณ์ว่า โครงการซึ่งใช้เวลา 9 เดือนครึ่ง จะมีการยกระดับระบบการต่อต้านการฟอกเงิน ระบบรายงาน และระบบธุรกิจอื่นๆ ของธนาคาร ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวนี้จะเป็นการวางรากฐานที่จำเป็นสำหรับ APB เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ธนาคารดิจิทัลได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้นในอนาคต และก่อนที่จะร่วมมือกับ APB นั้น HSG ได้ทำงานร่วมกับธนาคารอื่นๆ หลายแห่ง รวมถึงธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) และธนาคาร BIC ในโครงการที่คล้ายคลึงกัน โดยมุ่งเน้นที่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ของธนาคารให้ทันสมัย เพื่อรองรับรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ และเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ รวมถึงยกระดับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า
BCEL เริ่มใช้งานกับระบบธนาคารใหม่ของ HSG เมื่อเดือนเมษายน 2565 โดยโครงสร้างพื้นฐานใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีความยืดหยุ่น การปรับตัว ตลอดจนการเพิ่มลดขนาดการให้บริการ
ขณะที่ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้วางรากฐานสำหรับการชำระเงินแบบดิจิทัลรูปแบบต่างๆ โดยร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินจากทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน เพิ่มประสิทธิภาพ และเข้าถึงขีดความสามารถใหม่ๆ
นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างธนาคารกลาง สปป. ลาว และธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนระหว่างทั้ง 2 ประเทศ โดยส่วนหนึ่งของโครงการก็คือ ธนาคาร Acleda ของกัมพูชา ได้รับมอบหมายให้พัฒนาระบบใหม่ๆ ที่เชื่อมต่อระหว่าง Bakong โครงสร้างพื้นฐานสกุลเงินดิจิทัลของกัมพูชา กับ Lapnet เครือข่ายการชำระเงินแห่งชาติของ สปป.ลาว
อย่างไรก็ตาม รายงานปี 2562 โดย Asian Think Tank Institute ระบุว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ไม่เพียงพอและความรู้ความเข้าใจทางการเงินที่ค่อนข้างน้อย เป็นอุปสรรคหลักในการพัฒนาฟินเทคของ สปป.ลาว รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่ระบุโดยบรรดาผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมนี้ ได้แก่ การขาดแคลนทรัพยากร ช่องว่างด้านทักษะ และกรอบการกำกับดูแลที่ล้าหลัง โดยภาคเทคโนโลยีทางการเงินของ สปป.ลาว ยังคงตามหลังเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และกัมพูชา
Reference :
https://fintechnews.sg/68354/laos/laos-fintech-revolution-is-still-bank-led-for-now/
Comments